2 มีนาคม 2563 : ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชและสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ด้านวิชาการและบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขมุ่งเพิ่มศักยภาพการบริการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชและโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติฯ 31 แห่งทั่วประเทศ

กรุงเทพฯ 2 มีนาคม 2563 : ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชและสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ด้านวิชาการและบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานในพิธีและร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามในพิธี พร้อมด้วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และคณะผู้บริหารบุคลากรราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมในพิธี ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 3 อาคารบริหาร 2 สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก่อตั้งขึ้นตามพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี มีวิสัยทัศน์มุ่งสู่การเป็นบ้านแห่งการเรียนรู้และเป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากร ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสุขภาพ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศชาติและประชาชน จัดการศึกษาที่มุ่งเน้นการสร้างคนเพื่อสร้างชาติในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพที่ขาดแคลน สร้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ได้มาตรฐานวิชาชีพ และมาตรฐานทางวิชาการในระดับสากล เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพของปวงชนชาวไทยด้วยผู้เชี่ยวชาญให้ครอบคลุม โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกลทุรกันดาร หนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนของคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ คือ โรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นสถาบันแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2560 โดยความร่วมมือกับ Monash University ประเทศออสเตรเลีย มุ่งเน้นการผลิตนักอัลตราซาวด์ที่มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในศาสตร์ทางด้านอัลตราซาวด์ โดยมีหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นทางด้านอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสัทภาพการแพทย์ ในปี พ.ศ.2562 ที่ทางรัฐบาลได้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ตลอดจนสนองพระปณิธานในองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่มีพระประสงค์จะช่วยเหลือผู้ยากไร้ในพื้นที่ชนบทห่างไกลทุรกันดาร ทางคณะฯจึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนานักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมุ่งพัฒนาบุคลากรของโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล และขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานให้มีความรู้และทักษะในการตรวจวิเคราะห์ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ จากจุดเริ่มต้นโครงการดังกล่าว คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ดำเนินการโครงการเฉลิมพระเกียรติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระชนมายุ 60 พรรษา เพื่อผลิตนักอัลตราซาวด์ จำนวน 1,200 คน ในเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 – 2567 โดยร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ตระหนักถึงความสำคัญในทางด้านวิชาการและบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข โดยได้จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือด้านวิชาการและบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ระหว่างทั้ง 3 องค์กรขึ้น ภายใต้กรอบความร่วมมือในการจัดทำโครงการพัฒนาทางด้านวิชาการ การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การพัฒนาด้านการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องอัลตราซาวด์และการพัฒนาการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รวม 31 แห่ง เพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการตรวจรักษาโรคทางการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ การพัฒนาการบริการ และการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้โรงพยาบาลเหล่านี้สามารถใช้เครื่องอัลตราซาวด์ในการวินิจฉัย และดูแลผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและทันกับสถานการณ์ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม